การก่อสร้างผนังก่ออิฐมอญฉาบปูนให้แข็งแรง สวยงาม และลดปัญหาการแตกร้าว มีมาตรฐานการทำงานและข้อควรระวัง ดังนี้
แช่อิฐมอญในน้ำ 1 ชั่วโมง ก่อนนำมาก่อ เพื่อลดการดูดน้ำของอิฐจากปูนก่อ
ไม่ก่ออิฐบนพื้น ที่ไม่มีคานรองรับ ถ้าพื้นเดิมไม่มีคานต้องมีการเสริมคานเหล็กหรือคาน ค.ส.ล.ที่ถูกออกแบบโดยวิศวกรโครงสร้าง
ให้ก่ออิฐสลับแนว เพื่อเพิ่มความแข็งแรง
ปูนก่อต้องไม่มีความหนาเกิน 1.5 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้มีการยุบตัวมากเกินไป
ต้องไม่ก่อผนังอิฐให้เสร็จในครั้งเดียว ควรก่ออิฐที่ความสูงเพียงครึ่งเดียวของที่จะก่อแล้วทิ้งไว้อย่างน้อย 1-2 วัน เพื่อให้ผนังมีการยุบตัว จากนั้นตรวจสอบแนวผนังให้ได้ระดับ แล้วจึงก่อต่อ
เมื่อก่อผนังขึ้นไปชนท้องพื้นหรือคานของอาคารด้านบน ควรมีการปล่อยผนังทิ้งไว้ก่อนฉาบ เพื่อรอดูการยุบตัวของผนังกับท้องพื้นหรือคาน ถ้ามีการยุบตัวให้ปูนก่อเพื่อให้ผนังเต็มพื้นที่ก่อนฉาบ
ผนังก่ออิฐต้องมีเสาเอ็น คสล.ที่ระยะที่เหมาะสมได้แก่ ต้องมีเสาเอ็นแนวตั้งทุกความยาว 2.50 เมตร
ผนังก่ออิฐต้องมีทับหลัง คสล. ที่ระยะที่เหมาะสมได้แก่ ต้องมีทับหลังแนวนอนทุกความสูง 1.50 เมตร
ผนังก่ออิฐที่มีช่องเปิดหรือช่องประตู-หน้าต่าง ต้องมีเสาเอ็นและโดยรอบเพื่อความแข็งแรง และลดการแตกร้าว
ต้องมีการเสียบเหล็กหนวดกุ้ง หรือ เหล็กเส้น 6 มิลลิเมตร ออกจากเสา คาน และเอ็น ค.ส.ล. ยื่นเข้ามาในแนวผนังก่ออิฐ ที่ส่วนปูนก่อ โดยให้เหล็กเส้นมีความยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร และให้มีทุกระยะความห่าง 30-60 เซนติเมตร เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของผนัง
การเสียบเหล็กหนวดกุ้งเข้าในเสาและคาน ต้องมีการใช้กาวอีพ็อกซี่เสียบเหล็ก เพื่อช่วยประสานเหล็กเส้นให้ติดเข้ากับ ค.ส.ล.
ผนังก่ออิฐต้องมีการติดลวดตะแกรงกรงไก่ ที่มุมวงกบประตู-หน้าต่าง และแนวการเดินท่อไฟฟ้า-ประปา เพื่อลดการแตกร้าว เนื่องจากการอยู่ร่วมกันของวัสดุต่างชนิดบนผนังก่ออิฐ
ไม่เดินท่อไฟฟ้า-ประปา ในแนวนอน ตลอดความยาวผนัง เพราะจะทำให้ความแข็งแรงของผนังลดลง ควรเดินท่อเป็นแนวจากล่างขึ้นบน หรือบนลงล่างแทน
ต้องรอผนังก่ออิฐบ่มตัวอย่างน้อย 7 วัน ก่อนจะมีการฉาบปูน โดยระหว่าง 7 วันนั้นต้องมีการรดน้ำบ่มผนังต่อเนื่องทุกๆวัน
ต้องผสมปูนฉาบด้วยเครื่องผสมไฟฟ้า แทนการผสมด้วยมือ เพราะเนื้อปูนฉาบจะเข้ากันได้ดีกว่า
ไม่ฉาบปูนบนผนังก่ออิฐที่เปียกน้ำมาก ต้องปล่อยทิ้งไว้ให้ผนังหมาดๆแล้วจึงทำการฉาบปูน
ต้องมีการจับเซี้ยม-จับปุ่มด้วยปูนเค็ม เพื่อใช้หาระดับและความหนาของการฉาบปูน
ต้องมีการสลัดดอกหรือการสบัดปูนที่ผิวของเสาและคานให้ผิวขรุขระ เพื่อเพิ่มการยึดเกาะ ก่อนการฉาบปูน
ไม่ฉาบปูนหนาหรือบางเกินไป ความหนาของปูนฉาบที่เหมาะสม คือ 1.5 ถึง 2.5 เซนติเมตร
ควรฉาบปูนที่ผนัง 2 ครั้ง โดยการฉาบชั้นแรกให้ใช้ปูนซีเมนต์ที่มีความหยาบ (ปูนฉาบทั่วไป) และฉาบไม่เกิน 1.5 เซนติเมตร โดยการฉาบชั้นที่สอง คือ การฉาบทับหน้าด้วยปูนซีเมนต์ที่มีเนื้อละเอียด (ปูนฉาบละเอียด)
เมื่อฉาบผนังปูนแล้วเสร็จ ต้องมีการบ่มผิว ด้วยการรดน้ำอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 5-7 วัน โดยผนังที่โดนแดด ควรมีการรดน้ำเพิ่มเป็น 2-3 ครั้งต่อวัน หรือมีการบังแดดให้ผนัง
กรณีต้องการให้ผิวผนังเรียบเนียนเป็นพิเศษ อาจใช้ปูนฉาบแต่งผิวสกิมโค้ท (Skim Coat) ในการฉาบทับหน้า ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น
ใช้ อิฐมอญ และปูนซีเมนต์สำหรับก่อ-ฉาบ ที่ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุฒสาหกรรม (ตรา มอก.)
"อย่าคิดว่าสิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า"
พุทธวจน
Yorumlar