ทิศของหัวนอนที่ถูกต้อง ? มีความคิดเห็นมากมายเรื่องการวางเตียงนอน ว่าสมควรหันหัวเตียงไปในทิศทางใดดี
ความคิดเห็นที่ควรนำไปพิจารณาเบื้องต้น คือ ความคิดเห็นเรื่องความปลอดภัย และความสะดวกสบายในการใช้งาน เช่น
ไม่วางหัวเตียงนอนไปในตำแหน่งที่ผนังมีที่วางสิ่งของ ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุสิ่งของหล่นใส่ ขณะที่นอนอยู่ได้ หรือผู้นอนอาจลุกขึ้นมาชนบานตู้เก็บของเหนือหัวเตียงซึ่งบังเอิญเปิดออก
ไม่วางหัวเตียงนอนไปที่ผนังของห้องน้ำ ซึ่งอาจมีเสียงดังของท่อน้ำ หรือสุขภัณฑ์รบกวน
ไม่วางตำแหน่งของหัวเตียงนอนที่ทำให้ผู้นอนมองเห็นประตูเข้าห้องนอนได้โดยตรง เนื่องจากจะทำให้ผู้นอนคอยระแวง และกังวลว่ามีใครอยู่ที่หน้าประตูห้องนอน
ตำแหน่งของหัวนอนไม่มีหน้าต่างหรือประตู เนื่องจากเสียงและแสงสว่างจะรบกวนผู้นอนได้ง่าย
สำหรับความคิดเห็น หรือ ความเชื่อในเรื่องฮวงจุ้ย เรื่องทิศ เรื่องดวงชะตา ผู้อยู่อาศัยควรพิจารณากันให้ดีว่ากำลังเชื่อความคิด ความเห็นของใครอยู่ ผู้นั้นเป็นผู้ที่รู้จริงๆมั๊ย ควรตรวจสอบคำสอนอื่นๆว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ และได้เคยพิสูจน์ว่าเรื่องที่ตัวเองบอกสอนนั้นเป็นความจริงหรือไม่
สำหรับผมเองผมศรัทธาในพระพุทธเจ้า และได้พิสูจน์คำสอนของท่านแล้ว ที่มีมากมายเป็นลำดับ จนเชื่อว่าท่านเป็นผู้ที่รู้ความจริง
พระพุทธเจ้าเคยตรัสถึงเรื่องการนอน ในพุทธวจนเรื่องการนอน ดังนี้
ภิกษุ ท. ! การนอน ๔ อย่าง เหล่านี้ มีอยู่. สี่อย่าง อย่างไรเล่า สี่อย่างคือ เปตไสยา กามโภคิไสยา สีหไสยา ตถาคตไสยา
ภิกษุ ท. ! เปตไสยา (นอนอย่างเปรต) เป็นอย่างไรเล่า
ภิกษุ ท. ! โดยมาก พวกเปรต ย่อมนอนหงาย นี้เรียกว่า เปตไสยา.
ภิกษุ ท. ! กามโภคิไสยา (นอนอย่างคนบริโภคกาม) เป็นอย่างไรเล่า
ภิกษุ ท. ! โดยมาก คนบริโภคกาม ย่อมนอนตะแคงโดยข้างเบื้องซ้าย นี้เรียกว่า กามโภคิไสยา
ภิกษุ ท. ! สีหไสยา (นอนอย่างสีหะ) เป็นอย่างไรเล่า
ภิกษุ ท. ! สีหะเป็นพญาสัตว์ ย่อมสำเร็จการนอนโดยข้างเบื้องขวา เท้าเหลื่อมเท้าสอดหางไว้ที่ระหว่างแห่งขา สีหะนั้นครั้นตื่นขึ้น ย่อมชะเง้อกายตอนหน้าขึ้นสังเกตกายตอนท้าย ถ้าเห็นความดิ้นเคลื่อนที่ของกาย (ในขณะหลับ) ย่อมมีความเสียใจเพราะข้อนั้น ถ้าไม่เห็น ย่อมมีความดีใจ นี้เรียกว่า สีหไสยา
ภิกษุ ท. ! ตถาคตไสยา (นอนอย่างตถาคต) เป็นอย่างไรเล่า
ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้ ภิกษุ สงัดแล้วจากกาม สงัดแล้วจากอกุศลธรรมทั้งหลายเข้าถึง ฌานที่ ๑ ซึ่งมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่ เพราะวิตกวิจารรำงับไป เธอเข้าถึง ฌานที่ ๒ อันเป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายในสามารถให้สมาธิผุดขึ้นเป็นธรรมเอก ไม่มีวิตกวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ แล้วแลอยู่ เพราะปีติจางหายไป เธอเป็นผู้เพ่งเฉยอยู่ได้ มีสติ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม และได้เสวยสุขด้วยนามกาย เข้าถึง ฌานที่ ๓ อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย กล่าวสรรเสริญผู้ได้บรรลุว่า “เป็นผู้เฉยอยู่ได้ มีสติอยู่เป็นสุข” แล้วแลอยู่ เพราะละสุขและทุกข์เสียได้ เพราะความดับหายไปแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน เธอเข้าถึง ฌานที่ ๔ อันไม่ทุกข์และไม่สุขมีแต่สติอันบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่ นี้เรียกว่า ตถาคตไสยา
ภิกษุ ท. ! เหล่านี้ แล การนอน ๔ อย่าง
จตุกฺก.อฺ. ๒๑/๓๓๑/๒๔๖
มนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมาก ถูกความกลัวคุกคามเอาแล้ว ย่อม ยึดถือเอาภูเขาบ้าง ป่าไม้ที่ศักดิ์สิทธิ์บ้าง สวนศักดิ์สิทธิ์บ้าง รุกขเจดีย์บ้าง ว่าเป็นที่พึ่งของตน ๆ
นั่นไม่ใช่ที่พึ่งอันทำความเกษมให้ได้เลย
นั่นไม่ใช่ที่พึ่งอันสูงสุด
ผู้ใดถือเอาสิ่งนั้นๆ เป็นที่พึ่งแล้ว ย่อมไม่หลุดพ้นไปจากทุกข์ทั้งปวง ได้
ส่วนผู้ใด ที่ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งแล้ว
เห็นอริยสัจทั้งสี่ ด้วยปัญญาอันถูกต้อง คือ เห็นทุกข์, เห็นเหตุเป็นเครื่องให้เกิดขึ้นของทุกข์, เห็นความก้าวล่วงเสียได้ซึ่งทุกข์, และเห็นมรรคประกอบด้วยองค์แปด อันประเสริฐ ซึ่งเป็นเครื่องให้ถึงความเข้าไปสงบรำงับแห่งทุกข์
นั่นแหละคือ ที่พึ่งอันเกษม
นั่นคือ ที่พึ่งอันสูงสุด
ผู้ใดถือเอาที่พึ่งนั้นแล้ว ย่อมหลุดพ้นไปจากทุกข์ทั้งปวง ได้แท้
ธ. ขุ. ๒๕/๓๙/๒๔.
Comments