มนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมาก ถูกความกลัวคุกคามเอาแล้ว ย่อม ยึดถือเอาภูเขาบ้าง ป่าไม้ที่ศักดิ์สิทธิ์บ้าง สวนศักดิ์สิทธิ์บ้าง รุกขเจดีย์บ้าง ว่าเป็นที่พึ่งของตน ๆ
นั่นไม่ใช่ที่พึ่งอันทำความเกษมให้ได้เลย
นั่นไม่ใช่ที่พึ่งอันสูงสุด
ผู้ใดถือเอาสิ่งนั้นๆ เป็นที่พึ่งแล้ว ย่อมไม่หลุดพ้นไปจากทุกข์ทั้งปวง ได้
ส่วนผู้ใด ที่ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งแล้ว
เห็นอริยสัจทั้งสี่ ด้วยปัญญาอันถูกต้อง คือ เห็นทุกข์, เห็นเหตุเป็นเครื่องให้เกิดขึ้นของทุกข์, เห็นความก้าวล่วงเสียได้ซึ่งทุกข์, และเห็นมรรคประกอบด้วยองค์แปด อันประเสริฐ ซึ่งเป็นเครื่องให้ถึงความเข้าไปสงบรำงับแห่งทุกข์
นั่นแหละคือ ที่พึ่งอันเกษม
นั่นคือ ที่พึ่งอันสูงสุด
ผู้ใดถือเอาที่พึ่งนั้นแล้ว ย่อมหลุดพ้นไปจากทุกข์ทั้งปวง ได้แท้
ธ. ขุ. ๒๕/๓๙/๒๔.
ภิกษุทั้งหลาย ! ในบรรดาลัทธิทั้ง ๓ นั้น สมณพราหมณ์พวกใด มีถ้อยคำและความเห็นว่า “บุคคลได้รับสุขหรือทุกข์ หรือ ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ ทั้งหมดนั้น เป็นเพราะอิศวรเนรมิตให้ (อิสฺสรนิมฺมานเหตูติ)” ดังนี้ มีอยู่,
เราเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้น แล้วสอบถาม ความที่เขายังยืนยันอยู่ดังนั้นแล้ว เรากล่าวกะเขาว่า “ถ้ากระนั้น (ในบัดนี้) คนที่ฆ่าสัตว์ ... ลักทรัพย์ ...ประพฤติผิดพรหมจรรย์ ... พูดเท็จ ... พูดคำหยาบ ... พูดยุให้แตกกัน ... พูดเพ้อเจ้อ ... มีใจละโมบเพ่งเล็ง ...มีใจพยาบาท มีความเห็นวิปริตเหล่านี้ อย่างใดอย่าหนึ่งอยู่ นั่นก็ต้องเป็นเพราะการเนรมิตของอิศวรด้วย. เมื่อมัวแต่ถือเอา การเนรมิตของอิศวร มาเป็นสาระสำคัญดังนี้แล้ว คนเหล่านั้นก็ไม่มีความอยากทำ หรือความพยายามทำในข้อที่ว่า สิ่งนี้ควรทำ(กรณียกิจ) สิ่งนี้ไม่ควรทำ(อกรณียกิจ) อีกต่อไป. เมื่อกรณียกิจและอกรณียกิจ ไม่ถูกทำหรือถูกละเว้นให้จริงๆ จังๆ กันแล้ว คนพวกที่ไม่มีสติคุ้มครองตนเหล่านั้น ก็ไม่มีอะไรที่จะมาเรียกตนว่า เป็นสมณะอย่างชอบธรรมได้” ดังนี้.
ติก. อํ. ๒๐/๒๒๓/๕๐๑.
อานนท์ ในกาลนี้ก็ดี ในกาลล่วงไปแล้วแห่งเราก็ดี
ใครก็ตามจัก เป็นผู้มีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ
มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ เป็นอยู่
คนเหล่านั้นจักเป็นภิกษุผู้อยู่ในสถานะอันเลิศที่สุด ; ได้แก่พวกที่มีความใคร่ในสิกขา.
มหา.ที ๑๐/๑๑๙/๙๓
#ปัญหาบ้าน
Comments